ถ้าหากพูดถึงคำว่า “โอตาคุ” แล้วล่ะก็ ภาพที่เด้งขึ้นมาในหัวของเพื่อนๆ จะเป็นยังไงกันบ้าง? จะใช่ภาพที่เป็นผู้ชายตัวอ้วนๆ หน้าตาธรรมด๊าธรรมดา ผมเผ้าปรกหน้า ใส่แว่นตาหนาเตอะ สะพายกระเป๋าใบใหญ่ ก้มหน้าก้มตาเดินไม่สบตาใคร วันๆ อ่านแต่การ์ตูนญี่ปุ่น แบบที่เรามักเห็นคาแรคเตอร์แบบนี้ในอนิเมะต่างๆ หรือเปล่า? นอกจากนี้ยังมีคำว่า ‘โอตะ’ ที่เรามักได้ยินคนเรียกเหล่าบรรดาแฟนคลับที่ติดตามวงไอดอลชื่อดัง เช่น BNK48 อยู่บ่อยๆ ด้วย แล้ว 2 คำนี้จะมีความเกี่ยวข้องกันหรือเปล่านะ แล้วอย่างตัวเราที่ชอบอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น มีของสะสมจากอนิเมะเรื่องโปรดอยู่บ้างแบบนี้จะเข้าข่ายเรียกว่าโอตาคุแล้วหรือยัง วันนี้เราจะมาชวนเพื่อนๆ มาทำความรู้จักกับคำว่า ‘โอตาคุ’ ในแบบเข้าใจง่าย อ่านจบเช็คตัวเองได้ทันทีเลยว่าเราเป็นโอตาคุอยู่หรือเปล่า
คำว่า ‘โอตาคุ’ (オタクหรือ お宅) ตามศัพท์ดั้งเดิมในภาษาญี่ปุ่น จะแปลว่า ‘บ้าน’ คำนี้ปรากฏขึ้นมาครั้งแรกในปี 1983 ในบทความของ อากิโกะ นากาโมริ (Akio Nakamori) ใช้เพื่อนิยามแฟนกลุ่มหนึ่งในทางเหยียด และเป็นคำที่รู้จักกันมากขึ้นในช่วงปี 1989 จากคดีของทสึโตมุ มิยาซากิ (Tsutomu Miyazaki) ซึ่งฆ่าเด็กหญิงไปถึง 4 ศพ และพบว่าเขามีวิดีโอเทปการ์ตูนอนิเมะเก็บอยู่ในที่พักเกือบหกพันม้วน นักข่าวตั้งจึงฉายาให้กับเขาว่า “นักฆ่าโอตาคุ” เลยกลายเป็นว่าผู้คนชาวญี่ปุ่นก็เลยใช้คำว่าโอตาคุ แทนกลุ่มที่ชื่นชอบอนิเมะ มังงะหรือสื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจนติดปากกันเรื่อยมา
ในปัจจุบันโอตาคุมักใช้เรียกแทนคนที่คลั่งไคล้ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากๆ จนเข้าขั้นหมกมุ่น จะเรียกได้ว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้เลยก็ได้ และโอตาคุไม่ได้จำกัดแค่ผู้ที่คลั่งไคล้ในการ์ตูนเท่านั้น แต่ยังมีโอตาคุผู้ทุ่มเทในสายอื่นๆ แตกแยกย่อยไปอีกมากมาย อีก เช่น โอตาคุวีดีโอเกม โอตาคุคอสเพลย์ โอตาคุเสียงนักพากย์ โอตาคุฟิกเกอร์ โอตาคุไอดอล หรือที่มักได้ยินคนเรียกกันบ่อยๆ ว่า “โอตะ” ซึ่งหมายถึงแฟนคลับวงไอดอล ก็หมายถึงผู้ที่คลั่งไคล้ไอดอลนั่นเองแหละครับ (เชื่อว่าเพื่อนๆ คงน่าจะเดากันได้ถูกเนอะ เพราะขึ้นต้นว่าโอตะเหมือนกัน)
นอกจากนี้คำว่าโอตาคุก็ยังครอบคลุมไปถึงการคลั่งไคล้อย่างอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวพันกับเรื่องสื่อบันเทิง การ์ตูน อนิเมะ มังงะ ก็ได้นะ(อย่างโอตาคุรถไฟก็มีด้วยนะ แบบว่าจำได้ทุกรุ่นของรถไฟเลยล่ะ สุดยอดมากๆ) นั่นหมายความว่า การจะได้มาซึ่งคำว่าโอตาคุนั้น คนๆ นั้นจะต้องมีความชื่นชอบเกินระดับคนทั่วไป แถมยังมีความชำนาญ มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนั้นแบบละเอียดลออ รู้ลึก รู้จริง มากกว่าคนธรรมดาๆ ที่ชอบหรือรู้จักทั่วๆ ไปด้วย แต่โอตาคุที่ชื่นชอบอะไรมากๆ เป็นพิเศษก็มักจะโดนคนทั่วไปมองว่า แปลกประหลาด คุยยาก คุยแต่เรื่องที่ไม่เข้าใจ (คุยลึกเกินไปจนคนอื่นตามไม่ทัน) และบางครั้งโอตาคุก็มักให้ความสนใจเฉพาะเรื่องที่ตัวเองสนใจ จึงทำให้ดูเหมือนว่าเป็นคนไม่เข้าสังคม ไม่คบหาคนอื่น
ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้หลายๆ คนเข้าใจผิดในความหมายของโอตาคุ คือ โอตาคุไม่จำเป็นจะต้องมีหน้าตาที่แย่ หรือมีอิมเมจแบบไม่ดูแลตัวเองอย่างที่ชาวญี่ปุ่นทั่วไปเข้าใจกัน เพียงแต่โอตาคุจะมุ่งเอาแต่เรื่องที่ตนสนใจมากกว่าเรื่องอื่น รวมถึงภาพลักษณ์ของตัวเอง และมีลักษณะที่ไม่เก่งในการเข้าสังคม ซึ่งน่าจะใกล้เคียงคำว่า “geek” ในภาษาอังกฤษนั่นเอง
แต่แม้จะมีผู้พูดถึงโอตาคุในทางเหยียดว่าเป็นคนหมกมุ่นเกินเหตุจนไม่เอาสังคม แต่ก็ต้องยอมรับโอตาคุเขาก็มีความเก่งในเรื่องเฉพาะทางของเขาจริงๆ และยังมีข้อดีในเรื่องของความทุ่มเทอีกด้วย ถ้าทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร จะนิยามว่าเขาหรือเราเป็นอะไรก็ไม่สาคัญหรอกจริงไหม? หากเพื่อนๆ เพื่อนๆ เป็นโอตาคุเรื่องใดอยู่แล้วมีโอกาสได้นำข้อมูลต่างๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเองและคนอื่นได้ ก็จัดไปเลย ให้เขารู้ไปว่าโอตาคุไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกยังไงล่ะ
สุดท้ายนี้เมื่อเพื่อนๆ ได้อ่านบทความแล้ว ก็คงอาจจะพอตอบตัวเองได้แล้วว่า ตัวเราจัดเป็นโอตาคุหรือไม่ ซึ่งอันนี้ก็ต้องถามตัวเราเองด้วยว่าสิ่งที่เราคลั่งไคล้นั้น คลั่งในเลเวลไหน ถึงระดับเสพติดเลยหรือไม่ แบบว่าถามอะไรก็รู้หมด และไม่หมดความสนใจในเรื่องนั้นง่ายๆ (จะมีใครเป็นโอตาคุหนังสือเรียนบ้างไหม อิอิ)
www.sanook.com/moshimoshi/2595/